เว็บข่าวสร้างสรรค์สังคม เทิดทูนสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของข่าวทั่วไป ข่าวสังคม ข่าวท้องถิ่น ร้านอาหารอร่อย และยังรับออกแบบ จัดงานอีเวนท์ ทุกประเภท รับงานออกสื่อออนไลน์ และสื่อหลักทั้งหนังสือพิมพ์และทีวี
วันเสาร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2568
เลขา TSPCA ชี้เลี้ยงสัตว์อย่าทำร้ายเพียงอารมณ์ชั่ววูบ
(อ่านแล้ว 359 ครั้ง)
Share on Google+

วันที่ 10 เมษายน 2568 ตามที่ปรากฏข่าว หนุ่มขี่จักยานยนต์ ลากสุนัข  ชื่อ ‘แซลมอน’ ซึ่งตนเลี้ยงเองตั้งแต่อายุ 2 เดือนกว่า  ไปบนท้องถนนและมีผู้เมตตาเห็นและเข้าช่วยเหลือนั้น ปรากฏว่าภายหลัง หนุ่มคนดังกล่าว ยกมือไหว้ขอโทษ อ้างทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ หลังทะเลาะกับแฟนหนุ่ม จนเกิดอารมณ์ชั่ววูบ แค่ประชด และน้อยใจ ตนเองก็ได้สำนึกผิดในเหตุการณ์ที่กระทำในครั้งนี้ อยากขอโทษสังคมที่ทารุณน้องหมา ที่เลี้ยงมาด้วยอารมณ์ชั่ววูบ และอยากขอโอกาส นั้น

ผู้สื่อข่าวได้ไปสอบถามกรณีนี้กับ ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ส่วนตัวเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น และรู้สึกว่าเวลาคนเรารักกัน ก็มักให้ของขวัญเป็นสัตว์แทนใจ  เช่น สุนัข แต่เวลาทะเลาะกัน ก็มักบันดาลโทษะ ลงสัตว์เหล่านั้น ซึ่งก็มีให้เห็นบ่อยครั้งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะสัตว์เหล่านั้นเขาก็มีชีวิต จิตใจรับรู้ได้ถึงความรู้สึกเจ็บปวดทรมาน

โดยการเลี้ยงสัตว์ หรือการให้สัตว์เป็นของขวัญแทนใจกันก็ควรให้เมื่อพร้อม พร้อมที่จะเลี้ยงดูรับผิดชอบสัตว์เหล่านั้นไปชั่วชีวิตของเขาด้วยความเมตตา  

ขอชื่นชมจากหัวใจกับบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ มีเมตตาและมีความกล้าหาญที่เข้าไปช่วยเหลือสุนัขตัว ดังกล่าว

สำหรับในแง่พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ก็ต้องพิจารณาถึงการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่อย่างไร

ซึ่งกรณีการนำสุนัขมาผูกและลากกับรถจักรยานยนต์ ก็ย่อมทำให้สัตว์นั้นได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายและจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพหรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตายได้ ย่อมเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร  ตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 20 และมีโทษตามมาตราตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งสำหรับการอ้างเรื่องอารมณ์ชั่ววูบ การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเหตุผลต่างๆ ก็เป็นข้ออ้างที่สามารถหยิบยกขึ้นได้ แต่ต้องมีการพิสูจน์ ถึงเจตนาการกระทำและผลของการกระทำนั้นด้วย

สำหรับเรื่องสุนัขที่ถูกทารุณกรรมนั้น ใครจะต้องดูแลในเบื้องต้น โดยหลักการทั่วไปแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ สามารถนำสัตว์ที่ถูกทารุณกรรมไปตรวจรักษาหรือช่วยเหลือสัตว์ที่ตกอยู่ในภยันตราย ในกรณีที่ปรากฏว่าสัตว์นั้น ไม่มีผู้ใดให้การรักษาหรือช่วยเหลือ ตามมาตรา 25 (5)

ส่วนสัตว์ที่ถูกทารุณกรรมสัตว์นั้น จะตกเป็นของใครโดยหลักกฎหมายแล้ว ในกรณีที่ศาลได้พิพากษาลงโทษ ผู้ที่กระทำการทารุณกรรมสัตว์และศาลเห็นว่า การให้สัตว์นั้นยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าของหรือผู้กระทำความผิดนั้นต่อไป สัตว์นั้นอาจจะถูกทารุณกรรมหรือได้รับการจัดสวัสดิภาพที่ไม่เหมาะสมอีก ศาลอาจสั่งห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้กระทำความผิดนั้นครอบครองสัตว์ดังกล่าว และมอบให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เห็นสมควรเป็นผู้ครอบครองหรือดูแลสัตว์นั้น ต่อไป

กรณีดังกล่าวจึงเป็นอุทาหรณ์ เตือนใจเป็นอย่างดีว่า การะทำควรมีสติระลึกรู้อยู่เสมอ และไม่ควรระบายอารมณ์กับสัตว์ เพราะสัตว์เหล่านั้น ก็รับรู้ได้ถึงความทุกข์ ความเจ็บปวดทรมานเช่นกัน การเลี้ยงสัตว์ควรต้องรับผิดชอบและเลี้ยงดูเขาให้ดีตลอดอายุขัย การให้สัตว์เป็นของขวัญแทนใจ ก็ควรเลือกผู้รับด้วยว่ามีพร้อมที่จะสามารถเลี้ยงสัตว์นั้นได้หรือไม่ จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลังดังกรณีดังกล่าวอีก

 

จ่าหมง-รายงาน

Share on Google+
เศรษฐกิจในประเทศ