เว็บข่าวสร้างสรรค์สังคม เทิดทูนสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของข่าวทั่วไป ข่าวสังคม ข่าวท้องถิ่น ร้านอาหารอร่อย และยังรับออกแบบ จัดงานอีเวนท์ ทุกประเภท รับงานออกสื่อออนไลน์ และสื่อหลักทั้งหนังสือพิมพ์และทีวี
วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
ข่าวปทุมธานี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เผยโครงการความร่วมมือในการผ่าตัดแก้ไขท่อปัสสาวะตีบในเพศชาย
(อ่านแล้ว 23 ครั้ง)
Share on Google+

อ.พญ.วลีรัตน์  เศวตสุทธิพันธ์ อาจารย์แพทย์สาขาศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ  คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และศัตยแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่าโครงการความร่วมมือในการผ่าตัดแก้ไขท่อปัสสาวะตีบในเพศชาย ระหว่างหน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ University of California, Irvine Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นโครงการที่เริ่มต้นจากการผ่าตัดซ่อมแซมท่อปัสสาวะตีบ ซึ่งเป็นหัตถการที่มีความยากและมีความท้าทายอย่างมาก หากไม่ได้รับการฝึกฝนที่ดี หรือมีเครื่องมืออุปกรณ์การผ่าตัดที่พร้อม จะส่งผลทำให้การผ่าตัดไม่ประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมา การผ่าตัดซ่อมแซมท่อปัสสาวะตีบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่อปัสสาวะส่วนหลังที่เกิดจากการบาดเจ็บร่วมกับกระดูกเชิงกรานหัก เป็นส่วนที่มีความยากในการผ่าตัดซ่อมแซมที่สุด เนื่องจากตำแหน่งกายวิภาคที่อยู่ลึก และมีพังผืดซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บโดยรอบมาก ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในการรักษา ทีมศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จึงได้เดินทางไปเข้าร่วมฝึกฝนการผ่าตัดที่สอนโดยศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลกในการผ่าตัดซ่อมแซมท่อปัสสาวะตีบที่ประเทศเวียดนาม ตามโครงการความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัย University of California, Irvine ประเทศสหรัฐอเมริกา และโรงพยาบาล Binh Dan ประเทศเวียดนาม ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 และได้ก่อเกิดความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาล 3 แห่งนี้ ในการฝึกฝนการผ่าตัดแก้ไขโรคท่อปัสสาวะตีบในเพศชายต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน นอกจากนี้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ยังได้จัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการผ่าตัด ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง มาใช้สำหรับการผ่าตัดผู้ป่วยท่อปัสสาวะตีบที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ด้วย

ท่อปัสสาวะตีบในเพศชายเป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การอักเสบเรื้อรังของผิวหนัง (lichen sclerosis) การได้รับการบาดเจ็บ โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยพบว่าตำแหน่งของท่อปัสสาวะที่เกิดการตีบได้บ่อย ได้แก่ ท่อปัสสาวะส่วนบัลบาร์ (bulbar urethra) โรคท่อปัสสาวะตีบในเพศชายก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้ป่วยอย่างมาก เนื่องจากทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออก รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิต สิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาล หากปล่อยทิ้งไว้สามารถทำให้เกิดภาวะไตวายได้

แนวทางการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การขยายท่อปัสสาวะโดยใช้แท่งเหล็กหรือแท่งพลาสติกสำหรับการขยายท่อปัสสาวะ การกรีดตัดพังผืดโดยใช้มีดหรือเลเซอร์ผ่านทางการส่องกล้อง ซึ่งสองวิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากทำได้ง่าย ไม่ต้องอาศัยความชำนาญหรือประสบการณ์ในการทำหัตถการชนิดนี้มากนัก เครื่องมือที่ใช้มีราคาไม่สูง แต่ผลเสียคือมีอัตราความสำเร็จที่ต่ำ มีการศึกษาพบว่าอัตราความสำเร็จจากการขยายท่อปัสสาวะอยู่ที่ร้อยละ 50-60 ที่ระยะเวลา 2 ปี หากมีการตีบซ้ำ ต้องมาขยายท่อปัสสาวะซ้ำ โดยอัตราความสำเร็จอาจลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0 เท่านั้น เมื่อเทียบกับการผ่าตัดซ่อมท่อปัสสาวะแบบเปิดซึ่งมีอัตราความสำเร็จที่สูงกว่า และหากท่อปัสสาวะตีบมีความรุนแรงมาก เช่น มีความยาวมากหรือลึกมาก ก็จะไม่สามารถรักษาโดยการขยายหรือส่องกล้องกรีดพังผืดได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดแบบเปิดเท่านั้น

แต่เนื่องจากความซับซ้อนทางกายวิภาคของท่อปัสสาวะในเพศชายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยรายที่เป็นโรคท่อปัสสาวะตีบจากอุบัติเหตุ ทำให้การผ่าตัดรักษาแบบเปิดมีความซับซ้อนและเป็นหัตถการที่ยาก ต้องอาศัยการฝึกฝนความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อย่างมากจึงจะประสบความสำเร็จ และจากการที่ประเทศไทยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงติด 1 ใน 10 ของโลก ตามการจัดอันดับของกรมอนามัยโลก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรคท่อปัสสาวะส่วนหลังตีบจากการบาดเจ็บของท่อปัสสาวะในขณะที่เกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีผู้ป่วยท่อปัสสาวะตีบเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดท่อปัสสาวะแบบเปิดในประเทศไทยยังมีน้อยและอัตราความสำเร็จจากการผ่าตัดยังไม่สูงมากนัก ทำให้ผู้ป่วยหลายรายต้องคาสายสวนปัสสาวะทางหน้าท้อง ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบ่อย หรือหากไม่รับการรักษาก็ส่งผลให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังได้ เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย การจะประสบความสำเร็จในการผ่าตัดรักษาโรคท่อปัสสาวะตีบแบบเปิดได้ แพทย์ผู้ทำการรักษาจะต้องรู้ถึงวิธีการประเมินท่อปัสสาวะอย่างถูกต้องและละเอียด เพื่อวางแผนการผ่าตัด จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการผ่าตัด ขั้นตอนการผ่าตัดและทักษะที่เหมาะสม จะต้องรู้วิธีการดูแลหลังการผ่าตัดอย่างเป็นระบบ และมีเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการผ่าตัดอย่างครบถ้วน ซึ่งโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติระหว่างโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์วาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และโรงพยาบาลบินยัง ประเทศเวียดนาม ในการจัดอบรมทักษะการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยท่อปัสสาวะตีบแบบเปิด รวมถึงการอบรมการใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการผ่าตัด โดยศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดจากประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถทำให้ศัลยแพทย์ที่ประเทศเวียดนามสามารถทำการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยท่อปัสสาวะตีบได้มีอัตราความสำเร็จที่สูงขึ้น โดยอยู่ที่ร้อยละ 87.5 สำหรับท่อปัสสาวะส่วนหน้า และ 94.6 สำหรับท่อปัสสาวะส่วนหลัง

ทีมศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จึงได้ขอความร่วมมือจากศัลยแพทย์ทั้งสองโรงพยาบาลในการฝึกฝนทักษะการดูแลผ่าตัดรักษาผู้ป่วย และได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลบินยัง ประเทศเวียดนามเพื่อเรียนรู้ขั้นตอนการประเมินผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัด เข้าร่วมฝึกทักษะการผ่าตัดจากศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านหลายครั้ง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ครั้งละ 2 สัปดาห์ จวบจนถึงปัจจุบัน และยังได้เชิญศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เพื่อมาทำการสอนและร่วมผ่าตัดรักษาผู้ป่วยปีละ 1 ครั้ง ๆ ละ 2 สัปดาห์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565 จนถึงปัจจุบัน และมีการจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการผ่าตัดซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่โรงพยาบาลอีก 2 แห่งใช้ โดยการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอัตราความสำเร็จหลังจากการฝึกฝนทักษะที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ว่ามีอัตราความสำเร็จที่สูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 90

ด้วยปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายในการพัฒนาอาจารย์และนักศึกษาในทุกระดับ โดยได้มีการเชิญบุคลากรที่มีชื่อเสียงในระดับโลกจากสถาบันการแพทย์ที่มีชื่อเสียงชั้นนำของต่างประเทศ มาให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ แก่อาจารย์แพทย์ นักศึกษาแพทย์ และแพทย์ผู้ช่วยสอน รวมทั้งมุ่งเน้นการทำวิจัยกับอาจารย์ ซึ่งจะส่งผลถึงการศึกษาระดับปริญญาตรี และการศึกษาหลังปริญญา ในการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ด้านการแพทย์ที่ทันสมัยกับผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ เพื่อให้คณะแพทยศาสตร์ก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านการเรียนการสอนและการทำวิจัยในระดับสากล สอดคล้องกับวิสัยทัศน์คณะแพทยศาสตร์ที่จะก้าวสู่ความเป็นโรงเรียนแพทย์ชั้นนำด้วยการมุ่งเน้นสู่ความเป็นนานาชาติ

ในปัจจุบันโรคท่อปัสสาวะตีบในเพศชาย (Urethral stricture) นับเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การรักษาโรคท่อปัสสาวะตีบในปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การขยายท่อปัสสาวะ การส่องกล้องกรีดเพื่อขยายท่อปัสสาวะ ซึ่งอัตราความสำเร็จจากการรักษาค่อนข้างต่ำ และการผ่าตัดซ่อมแซมท่อปัสสาวะ ซึ่งการผ่าตัดซ่อมแซมท่อปัสสาวะ (Urethroplasty) สามารถทำให้เพิ่มอัตราความสำเร็จในการรักษาได้อย่างมีนัยสำคัญ และมีประสิทธิภาพ แต่ปัจจุบันยังมีศัลยแพทย์ยูโรวิทยาในประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการผ่าตัดชนิดนี้อยู่เป็นจำนวนน้อย ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง

Professor Joel Gelman เป็นศาสตราจารย์สาขาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ University of California, Irvine (UCI Medical Center) เมืองเออร์ไวน์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้มีชื่อเสียงระดับโลกทั้งใน และนอกประเทศเรื่องการผ่าตัดซ่อมแซมท่อปัสสาวะตีบในอัตราประสบความสำเร็จที่สูงมาก หน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จึงได้เรียนเชิญ Professor Joel Gelman มาร่วมการผ่าตัดรักษาผู้ป่วย

Share on Google+
เศรษฐกิจในประเทศ