
(อ่านแล้ว 70 ครั้ง)
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมงานเสวนา “เปิดเทอม ปิดบุหรี่ไฟฟ้า” จัดโดย หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรายงานผลการดำเนินโครงการฯ และแลกเปลี่ยนสถานการณ์ความรุนแรงและภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ นางสุวิมล จันทร์เปรมปรุง ประธานเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และนายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย พร้อมบุคลากรและผู้ที่สนใจ เข้าร่วมรับฟังการเสวนา ณ ห้องรสสุคนธ์ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร
.
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้กล่าวเปิดเสวนา "เปิดเทอม ปิดบุหรี่ไฟฟ้า" และรายงานผลการดำเนินงานโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสุขภาวะต่อการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนผ่านการใช้ชุดสื่อและกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับครู จากนั้นได้จัดเวทีเสวนา แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การแลกเปลี่ยนสถานการณ์ความรุนแรงและภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน รวมถึงบทบาทของหน่วยงานในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน และช่วงที่ 2 แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน และวิธีเตรียมรับสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนของครู ผู้ปกครอง และชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในช่วงเปิดภาคเรียนที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ควรเร่งสร้างความตระหนักรู้ และเตรียมมาตรการเฝ้าระวังร่วมกันอย่างรอบด้าน
นายธีร์ ภวังคนันท์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้ความสำคัญในการยกระดับการดูแลเยาวชนไทยให้ปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้าและสิ่งเสพติดในสถานศึกษาอย่างยั่งยืน จึงได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 กำหนดแนวทางป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัด โดยมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบด้วย 1. สร้างความตระหนักรู้เท่าทันพิษภัยและโทษของบุหรี่ไฟฟ้าทั้งต่อสุขภาพร่างกายและโทษทางอาญาให้แก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารทุกระดับ และเจ้าหน้าที่ 2. ให้ผู้รับผิดชอบสถานศึกษาหรือสถานที่ทำงาน จัดให้มีเครื่องหมายแสดงไว้ให้เห็นได้โดยชัดเจนว่าเป็นเขตปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 3. ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นสอดส่อง ดูแลหรือป้องกันมิให้นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ เข้าไปเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าทั้งการสูบ จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือสนับสนุนอย่างหนึ่งอย่างใด และ 4. หากมีกรณีตรวจพบ หรือมีการร้องเรียนกล่าวหา หรือกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหาร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ทันที พร้อมทั้งได้จัดกิจกรรม Kick off “นักเรียนปลอดภัยห่างไกลบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติด” ร่วมกับสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 เพื่อร่วมกันรณรงค์ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาให้แก่ผู้เรียนอย่างจริงจัง
พร้อมกันนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ยังได้ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีนายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. เป็นประธานขับเคลื่อนฯ รวมถึงคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนและมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และคณะอนุกรรมการระดับหน่วยงาน เพื่อกำกับดูแลและผลักดันมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา อาทิ การพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ที่ครอบคลุมทั้งมาตรการระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ประกอบด้วย 16 แผนปฏิบัติการ : 3 กิจกรรมหลัก : 53 กิจกรรมย่อย ซึ่งมุ่งเน้นการป้องกัน เฝ้าระวัง และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการจัดทำระบบกำกับ ติดตามการดำเนินงานตามแผนและมาตรการฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานข้อมูลทุกวันที่ 10 ของเดือน ผ่านระบบ Google Sheet และการจัดทำเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ที่จะแสดงไว้ในบริเวณพื้นที่ของส่วนราชการ และสถานศึกษาในสังกัด เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักรู้เกี่ยวกับพิษภัยและโทษของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมี QR Code เพื่อเข้าสู่ระบบรายงาน ผ่านระบบ MOE:Red box ซึ่งเป็นระบบเฝ้าระวังและส่งเสริมความประพฤตินักเรียน พร้อมระบุพิกัดจุดที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ทันในภาคเรียนนี้
“ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้บริหาร ครู นักเรียนและผู้ปกครอง และชุมชน โดยในส่วนของครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ขอยืนยันว่าครูทุกคนของ สพฐ. มีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม แม้บางครั้งอาจขาดความรู้หรือมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน แต่ไม่มีครูคนไหนปรารถนาร้ายกับเด็กนักเรียนแน่นอน เมื่อให้ความรู้เพิ่มเติมจนครูเข้าใจ ก็ได้ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี นอกจากนี้ เรายังมีความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการที่ออกประกาศและเป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก รวมถึงกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน โดยมีการทำงานเชิงรุก ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย การให้ความรู้ การบูรณาการข้อมูลเพื่อให้ครูนำไปใช้ในห้องเรียน และการรับเรื่องร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงการปฏิบัติการร่วมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ขอย้ำว่านี่คือภารกิจของผู้ใหญ่ทุกคน ที่ต้องร่วมมือกันปกป้องเด็กๆ จากสิ่งเสพติดและอบายมุข เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีคุณลักษณะที่จำเป็น มีทักษะเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต รวมถึงมีสุขภาพกายและใจแข็งแรง เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้แข่งขันได้ในระดับนานาชาติต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทางด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า จากผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยในช่วงปี พ.ศ.2567 – 2568 ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และภาคีเครือข่าย พบว่า เยาวชนอายุ 15–29 ปี มีแนวโน้มการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 12.2 ซึ่งสะท้อนถึงความรุนแรงและความเร่งด่วนของปัญหา ขณะที่สถานการณ์การขับเคลื่อนงานเชิงรุกเพื่อปราบปรามและป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานที่บูรณาการการทำงานทั้งด้านการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตราย การพัฒนาศักยภาพของแกนนำและเครือข่ายเยาวชน การออกกฎหมายและมาตรการควบคุม รวมถึงการเฝ้าระวังอย่างจริงจังและเร่งด่วน
ขณะที่ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน หัวหน้าโครงการฯ รายงานผลการสำรวจระยะที่ 1 เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน พบว่ามีนักเรียนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วประมาณร้อยละ 8 โดยนักเรียนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าให้ข้อมูลว่า ตนเองรู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายไม่น้อยกว่าบุหรี่มวน และมีอันตรายต่อคนรอบข้าง อีกทั้งยังรู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็ยังเลือกที่จะสูบต่อไป ปัจจัยที่ทำให้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพราะหาซื้อได้สะดวก และราคาเข้าถึงได้ เมื่อสอบถามว่าได้รับบุหรี่ไฟฟ้ามาจากแหล่งใด ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่าได้มาจากเพื่อนหรือคนรู้จัก บางส่วนระบุว่าได้มาจากร้านค้าในชุมชน ผลการสำรวจนี้สะท้อนสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงทั้งในมิติของมุมมองของเด็กและเยาวชนที่มีต่อการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในชุมชน อย่างไรก็ตามกระบวนการเก็บข้อมูลยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากที่ผ่านมาอยู่ในช่วงปิดภาคเรียน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้หากผลการเก็บข้อมูลเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ทางโครงการฯ จะรายงานผลให้ทราบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนต่อไป