
(อ่านแล้ว 138 ครั้ง)
วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณี กอริลล่า “บัวน้อย” ว่า หลังจากที่มีการเสนอความคิดเห็น ประเด็นการแก้ไข ปัญหา กอริลล่า “บัวน้อย” ปลุกให้ตื่น ด้วยสันติวิธี ก็เกิดกระแสการพูดถึง กอริลล่า “บัวน้อย” ขึ้นอีกครั้ง โดยข่าวที่เป็นมงคล ได้รับการเปิดเผยมาจาก คุณศิลจิรา อภัยทาน ผู้นำการรณรงค์หาบ้านใหม่ให้บัวน้อย ได้ส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) ถึง สาส์นจากพระไพศาล วิสาโล เพื่อขอบิณฑบาต อิสรภาพของบัวน้อย โดยข้อความระบุว่า
“ อาตมาได้ทราบด้วยความเป็นห่วงว่า “บัวน้อย” กอริลล่าเพศเมีย บัดนี้ได้มาอยู่ที่สวนสัตว์ เป็นเวลานานถึง 38 ปี เป็นที่ทราบกันดีว่า กอริลล่าเป็นสัตว์ที่เป็นญาติสนิทที่สุดของมนุษย์รองจากชิมแปนซี ใช่แต่เท่านั้นกอริลล่ายังมีอารมณ์ความรู้สึกหลายอย่างเหมือนกับมนุษย์ ดังมีเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายที่ยืนยันความข้อนี้
อาตมาเชื่อว่า ตลอดเวลา38 ปีที่อยู่ในกรง “บัวน้อย” แม้จะกินอิ่มนอนอุ่น แต่ก็มีความทุกข์ทรมานใจมาก เนื่องจากไม่ได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ไม่ได้สัมผัสพื้นดิน พงหญ้า หรือป่ายปีนต้นไม้ตามสัญชาตญาณของเขาเลย ที่สำคัญคือถูกตัดขาดจากพี่น้องผองเพื่อนที่เป็นกอริลล่าด้วยกัน คนเรามีความทุกข์ทรมานเมื่อถูกกักขังอย่างไร อาตมาเชื่อว่าบัวน้อยก็มีความรู้สึกเช่นนั้นตลอดเวลาที่อยู่ในกรง ตลอด 38 ปีบัวน้อยได้ให้อะไรต่ออะไรแก่มนุษย์มามากแล้ว บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่บัวน้อยจะได้รับสิ่งดี ๆ จากมนุษย์บ้าง เช่น ความเมตตากรุณา รวมทั้งความสุขที่ได้เป็นอิสระในบั้นปลายของชีวิต
อาตมาจึงอยากขอบิณฑบาตจากโยม โปรดคืนอิสรภาพให้แก่บัวน้อย ให้บัวน้อยได้กลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติ หรือใกล้ชิดธรรมชาติที่สุด ในดินแดนที่เป็นแผ่นดินเกิดของเขาอย่างแท้จริง มนุษย์เรามีความสุขเมื่อได้รับอิสรภาพฉันใด อาตมาเชื่อว่าบัวน้อยก็ย่อมมีความสุขเมื่อได้รับอิสรภาพฉันนั้น
การมอบอิสรภาพแก่บัวน้อย นอกจากเป็นการปฏิบัติธรรมที่อาศัยการเสียสละอย่างมากแล้ว ยังเป็นบุญกุศลอย่างยิ่งที่อาตมาเชื่อว่าจะอำนวยความสุขและความไพบูลย์ให้แก่โยมและครอบครัว อีกทั้งยังจะช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยและความทุกข์นานัปการได้ อาตมาจะอนุโมทนาอย่างยิ่งหากโยมคืนอิสรภาพให้แก่บัวน้อยในบั้นปลายชีวิตของเขา”
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล กล่าวต่อว่า ซึ่งหลังจากคุณศิลจิรา อภัยทาน ได้รับและส่งสาส์นจากพระไพศาล วิสาโล ขอบิณฑบาต อิสรภาพของบัวน้อย ต่อไปยังอธิบดีกรมอุทยานฯ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อทราบแล้ว
สำหรับ ข้อคิดทางธรรมจากพระไพศาลถึง “บัวน้อย” เพื่อน้อมจิตให้เข้าสู่กระแสแห่งกุศล ร่วมกันเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะการแสวงหาความร่วมมือและทางออกของปัญหาจากทุกฝ่าย อย่ามัวกล่าวโทษกันไปมา ปรามาสตัดสินผิดถูกกันอย่างเดียว เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่แท้จริง กลับนำมาซึ่งบาดแผลในใจ อคติต่อกันทุกฝ่าย ควรมาร่วมหาทางออกอย่างสันติวิธีร่วมกันจะดีกว่า แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 30 ปี ในการดูแลสัตว์เหล่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นบททดสอบในการถอดบทเรียนการดำเนินการ ของสวนสัตว์ในสภาพบริบทต่างๆ ของไทย ซึ่งในอดีต การเลี้ยงดูแลสัตว์ของสวนสัตว์บนห้าง อาจจะได้รับความนิยมสนใจ เพราะทันสมัย สะดวกสบาย แต่ปัจจุบันเชื่อมั่นว่า กระแสสังคมและนานาอารยะประเทศ อาจจะมองว่าเป็นอุปสรรคข้อจำกัดบางประการ ในการดูแลและจัดสวัสดิภาพที่มีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ซึ่งแน่นอนทุกอย่างล้วนมีการเปลี่ยนแปลง มันอาจเป็นสัจจะธรรมที่กล่าวว่า “ความถูกต้องในอดีต ไม่ใช่สัจจะธรรมในอนาคต” ก็เป็นไปได้ ดังนั้นการพิจารณาใคร่ครวญถึงการใช้ชีวิตที่เหมาะสมที่สุดในบั้นปลาย ยามแก่ชรา ของ กอริลล่า “บัวน้อย” จะเป็นเช่นไร คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตากรรมหรือฟ้ากำหนด แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีงาม เพื่อให้เกิดคุณค่าทุกชีวิตของสรรพสัตว์น้อยใหญ่ที่เกิดร่วมกันบนโลกใบนี้จะดีกว่า







